Pattaya Smile Dental ClinicPattaya Smile Dental Clinic
Forgot password?

อุดฟัน

การอุดฟัน

การอุดฟัน เป็นการบูรณะฟันที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ขอบเขตของการรักษาด้วยการอุดฟัน คือ ฟันที่ซี่ที่ผุและจะอุดนั้น จะต้องมีความเสียหายโดยยังไม่ลุกลามเข้าไปที่เนื้อเยื่อประสาทฟันในโพรงประสาทฟัน และฟันจะต้องมีส่วนเนื้อฟันที่เหลือเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุด รวมทั้งเหงือกที่อยู่โดยรอบต้องอยู่ในสภาพปกติด้วย ซึ่งการอุดฟันเรียกว่าเป็นการรักษาฟันผุ และยังช่วยป้องกันการลุกลามของฟันผุนั้นอีกด้วย

อุดฟันด้วยเซรามิก

อุดฟันด้วยเซรามิก

ประโยชน์กับการอุดฟัน

  1. การอุดฟัน เป็นการบูรณะฟันที่จะทำให้ฟันธรรมชาติกลับมาใช้งานได้ โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องสูญเสีบฟันซี่นั้นไป
  2. การอุดฟันจะช่วยให้ฟันมีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับฟันเดิมมากที่สุด และสามารถปรับแต่งให้มีรูปร่างลักษณะที่ดีกว่าเดิมด้วย
  3. การอุดฟัน ช่วยป้องกันฟันผุเพิ่มขึ้นได้ เพราะเมื่ออุดฟันแล้วจะปิดรูหรือรองแหว่งของฟัน ซึ่งเป็นช่องทางที่แบคทีเรียและเศษอาหารสามารถเข้าไปได้ จึงลดการลุกลามของฟันที่ผุได้
  4. การอุดฟัน สามารถช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันที่มีรอยสึก ไม่ใช่เฉพาะฟันผุอย่างเดียว
  5. การอุดฟันช่วยเพิ่มเติมความมั่นใจในรอยยิ้มมากขึ้น ในกรณีที่มีฟันแตก ฟันบิ่นด้านหน้า ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน
  6. การอุดฟันเป็นการรักษาฟันผุที่มีวิธีการไม่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายน้อย แต่หากปล่อยให้อาการผุจะลุกลามไปที่เนื้อเยื่อประสาทฟันในโพรงประสาทฟัน ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟัน ต้องใช้วิธีการรักษาคลองรากฟัน ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการอุดฟันมาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และหากผุอย่างรุนแรงอาจจะทำให้ต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปเลย
  7. ช่วยลดความเสี่ยงที่คุณอาจจะต้องใส่ฟันปลอมในอนาคตได้

ประเภทของวัสดุที่นำมาใช้อุดฟัน

  1. วัสดุอมัลกัม เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมระหว่างโลหะปรอทผสมเงินและทองแดง มีความแข็งแรงเพราะมีโลหะเป็นส่วนผสมด้วย ซึ่งความแข็งแรงนี้จึงทำให้วัสดุนี้เหมาะสำหรับการอุดฟันกรามที่ต้องรองรับแรงบดเคี้ยว และมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่ด้วยสีของวัสดุจะเป็นสีโลหะคล้ำ จึงทำให้ไม่สามารถอุดบริเวณฟันหน้าที่จะเห็นเด่นชัดได้ ข้อเสียของวัสดุอมัลกัมคือไม่สามารถยึดติดกับฟันเองได้ ทำให้คนไข้ต้องสูญเสียเนื้อฟันไปมากเมื่อเทียบกับการอุดฟันประเภทอื่น และหลังจากอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัมแล้ว ห้ามใช้ฟันที่อุดเคี้ยวอาหาร เพราะต้องรอให้วัสดุแข็งตัวก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง
  2. คอมโพสิตเรซิน เป็นวัสดุสีที่เหมือนกับฟัน มีให้เลือกหลายเฉดสี ให้เข้ากับสีฟันของแต่ละบุคคล ซึ่งวัสดุอุดฟันแบบสีเหมือนฟันนี้สามารถใช้อุดได้ทั้งฟันหน้า และฟันหลัง สามารถแต่งรูปทรงได้ง่าย ให้ความสวยงาม และมีความเป็นธรรมชาติสูง ซึ่งหลังจากทันตแพทย์ใส่วัสดุคอมโพสิตแล้วต้องฉายแสงจากเครื่องฉายแสงทางทันตกรรม เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้วัสดุแข็งตัว จึงทำให้หลังจากทำเสร็จสามารถใช้งานฟันได้ทันที แต่การอุดฟันประเภทนี้จะไม่สามารถใช้อุดฟันบริเวณกว้างมากนั้น เพราะอายุการใช้งานของคอมโพสิตเรซินน้อยกว่าวัสดุอมัลกัม และมีความแข็งแรงน้อยกว่า แต่มีข้อดีตรงที่การกรอเนื้อฟันจะน้อย และให้สีที่เหมือนฟันได้ จึงเหมาะกับการอุดฟันด้านหน้าที่ต้องการความสวยงาม และความเป็นธรรมชาติ
  3. พอร์ชเลน หรือ เซรามิก เป็นการอุดฟันในกรณีที่ฟันมีการผุ หรือแตกขนาดใหญ่ ซึ่งวัสดุอุดฟันปกติไม่แข็งแรงพอจะนำมาบูรณะได้ โดยการอุดฟันด้วยพอร์ซเลนนี้ จะต้องสร้างชิ้นงานจากห้องแล็บก่อน แล้วนำชิ้นงานมายึดกับฟันที่มีการกรอแต่งไว้ สามารถทำสีให้เข้ากับสีฟันของคนไข้ได้ และมีความทนทานต่อการใช้งานได้สูง
อุดฟันสีเหมือนฟัน

อุดฟันสีเหมือนฟัน

การปฏิบัติตัวภายหลังการอุดฟัน

  1. สำหรับผู้ที่อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม หลังจากทำเสร็จห้ามเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพราะวัสดุที่ใช้ยังมีความแข็งแรงไม่เต็มที่ ดังนั้นควรทานอาหารอ่อน หรือหั่นอาหารให้เป็นชิ้นเล็กก่อนรับประทาน
  2. สำหรับผู้ที่อุดฟันหน้าด้วยวัสดุสีคล้ายฟัน ไม่ควรใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหารที่แข็ง เพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้ และการแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดีได้
  3. การอุดฟันในผู้ที่มีฟันผุลึกมากๆ หลังจากอุดแล้วอาจจะมีอาการเสียวฟัน จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน1-2 สัปดาห์ ในกรณีที่หลังจากที่อุดฟันแล้ว 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยยังมีอาการเสียวฟันอยู่ ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

การอุดฟัน เป็นการแก้ปัญหาฟันผุที่ได้ผลมากที่สุดและเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ซับซ้อน สามารถทำเสร็จได้ในครั้งเดียวที่พบทันตแพทย์ นอกจากนี้ยังมีราคาที่ไม่แพงมากอีกด้วย ดังนั้นหากพบว่ามีอาการฟันผุ ควรรีบไปพบทันตแพทย์ ไม่ควรรอให้ลุกลามไปเรื่อยๆ เพื่อลดขั้นตอนและความรุนแรงในการรักษา และที่สำคัญลดค่าใช้จ่ายด้วย

Thanks!

E-mail: info@pattayasmiledentalclinic.com
Phone: (66) 3872-4145
Facebook: PattayaSmiledentalclinic
Line ID : @pattayasmileclinic